เกี่ยวกับเรา

ประวัติความเป็นมา

  1. สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 มาตรา 59 รับรองว่าประชาชนมีสิทธิได้รับข้อมูล คำชี้แจงและเหตุผลจากหน่วยงานของรัฐ ก่อนการอนุญาตหรือการดำเนินโครงการหรือกิจกรรมใดที่อาจมีผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัยคุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดที่เกี่ยวกับตนหรือชุมชนท้องถิ่น และมีสิทธิแสดงความคิดเห็นของตนในเรื่องนั้น ซึ่งต่อมา ทบวงมหาวิทยาลัยได้เสนอร่างพระราชบัญญัติการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. .... ต่อคณะรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีมีมติให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (สคก.) ตรวจพิจารณา
  2. ในชั้นตรวจพิจารณาของ สคก. นั้น พบว่าร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวได้นำเนื้อหาของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาการเผชิญหน้าระหว่างฝ่ายต่างๆ ในสังคมมาบรรจุไว้ สคก. เกรงว่าจะเกิดปัญหาต่อไปในอนาคตจึงได้ดำเนินการศึกษาวิจัยในเรื่องดังกล่าวและนำผลการศึกษาวิจัยที่ได้มาจัดทำเป็นร่างพระราชบัญญัติขึ้น แล้วได้นำออกรับฟังความคิดเห็นอย่างกว้างขวาง แต่ผลการรับฟังความคิดเห็นแสดงให้เห็นว่าประชาชนเข้าใจว่าเมื่อมีการรับฟังความคิดเห็นแล้ว หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการตามผลการรับฟังความคิดเห็นเท่านั้น ซึ่งทัศนคตินี้ผิดแผกไปจากความคิดเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนที่เป็นที่ยอมรับกันเป็นสากลว่าการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอแก่ประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ประชาชน รวมทั้งให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่รอบด้านเพื่อประกอบการตัดสินใจของหน่วยงานของรัฐ การเร่งผลักดันกฎหมายนี้โดยที่สังคมยังมีความเข้าใจคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนจึงอาจก่อให้เกิดความเสียหายขึ้นได้ สคก. จึงต้องใช้เวลาในการปรับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวพอสมควร
  3. ในระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ รองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม)ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 245/2546 ลงวันที่ 16 ตุลาคม 2546 แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญฯ เพื่อใช้บังคับในระหว่างที่ร่างพระราชบัญญัติยังไม่ผ่านรัฐสภา โดยมี นายจตุรงค์ ปัญญาดิลก ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ โดยคณะกรรมการฯ ได้ประชุมเพื่อพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี รวม 6 ครั้ง สรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้
    1. เห็นชอบกรอบแก้ไขระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะโดยวิธีประชาพิจารณ์ พ.ศ. 2539
    2. เห็นชอบให้ใช้ชื่อ “ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการหรือกิจกรรมที่มีผลกระทบต่อประชาชน พ.ศ. ....” โดยได้มอบหมายให้นายปกรณ์ นิลประพันธ์ ผู้อำนวยการฝายพัฒนากฎหมาย สคก. ซึ่งเป็นกรรมการด้วย ยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ ดังกล่าว ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาเรียงตามลำดับข้อ จนเสร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
    3. คณะกรรมการฯ ได้จัดทำสรุปสาระสำคัญและจัดทำตารางเปรียบเทียบร่างระเบียบสำนักนายกฯพร้อมทั้งเสนอร่างระเบียบสำนักนายกฯ นำเรียนรองนายกรัฐมนตรี (นายวิษณุ เครืองาม) เพื่อโปรดพิจารณาโดยได้รับความเห็นชอบให้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
    4. คณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ ๘ ฝ่ายกฎหมาย ได้มีมติเมื่อวันที่ ๒๒ กันยายน ๒๕๔๗ เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี
    5. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2548 อนุมัติตามมติคณะกรรมการกลั่นกรองเรื่องเสนอคณะรัฐมนตรี คณะที่ 8 (ฝ่ายกฎหมาย) และให้ สคก. พิจารณาตรวจสอบ
    6. สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีได้นำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. .... ตามที่ สคก. ได้ตรวจพิจารณาแล้ว นำเรียนรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบ
    7. รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสุรนันทน์ เวชชาชีวะ) ได้พิจารณาเห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. ....
    8. คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2548 เห็นชอบร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ และให้นำร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาลงนาม แล้วส่งไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป
    9. นายกรัฐมนตรี ได้ลงนามในระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2548
    10. สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้นำระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการ รับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับประกาศและ งานทั่วไป เล่ม 122 ตอนพิเศษ 55 ง วันที่ 27 กรกฎาคม 2548 และมีผลบังคับให้หน่วยงานของรัฐต้องปฏิบัติและดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบ ตั้งแต่วันที่ 25 กันยายน 2548 เป็นต้นไป